แนวทางปฏิบัติทั่วไปเกี่ยวกับยาที่มีความเสี่ยงสูง
 

1.แพทย์

  • แพทย์สั่งใช้ยาด้วยชื่อสามัญทางยาเท่านั้น ไม่ควรใช้ชื่อการค้าหรือคำย่อที่ไม่เป็นสากล
  • แพทย์ระบุขนาด จำนวน และวิธีใช้ยาด้วยลายมือที่ถูกต้องและชัดเจน
  • กรณีที่แพทย์สั่งใช้ยาที่มีความเสี่ยงสูงทางโทรศัพท์ ต้องมีการทวนซ้ำกับผู้รับคำสั่งให้ถูกต้องทั้ง ชื่อยา, ชื่อยา, ชื่อผู้ป่วย, รูปแบบยา, ความแรงยาและปริมาณยา
  • แพทย์ผู้สั่งใช้ยาต้องวินิจฉัยเมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่มีความเสี่ยงสูง
    และให้การรักษาอาการดังกล่าวอย่างเหมาะสม

 


2.เภสัชกร

  • เภสัชกรจัดทำข้อมูลยาที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานในโรงพยาบาล
  • เภสัชกรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการตรวจสอบยาที่มีความเสี่ยงสูง ควรตรวจสอบยา
    และฉลากยาอย่างละเอียด ก่อนส่งมอบยาทุกครั้ง
  • จัดทำสัญลักษณ์ คำเตือนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับยาที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้เกิดความระมัดระวังในการเก็บรักษาและการใช้ยา
  • กรณีที่ข้อมูลในใบสั่งยาไม่ชัดเจน ต้องทำการตรวจสอบข้อมูลกลับไปยังแพทย์ผู้สั่งใช้ยาก่อนทำการจ่ายยา
  • ควรมีการตรวจสอบการสำรองยาที่มีความเสี่ยงสูงที่มีไว้บนหอผู้ป่วยอย่างเป็นพิเศษ เป็นประจำทุกเดือน

3.พยาบาล

  • พยาบาลมีการตรวจสอบยาให้ละเอียดก่อน และบริหารยาด้วยความละเอียดรอบคอบ ทั้งชื่อยา ชื่อผู้ป่วย รูปแบบยา ความแรงยา จำนวนยา หากสงสัยให้สอบถามข้อมูลไปยังห้องจ่ายยา
  • พยาบาลควรมีการเฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่มีความเสี่ยงสูง พร้อมทั้งเตรียมการแก้ไขไว้ล่วงหน้าก่อนการให้ยา เช่น ควรเตรียมยาในรถฉุกเฉินที่สามารถแก้ไขอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวได้ให้เพียงพอก่อนการบริหารยา
  • การเก็บรักษายาที่มีความเสี่ยงสูง ควรเก็บตามคำแนะนำในยาแต่ละตัวที่ทางห้องจ่ายยาได้ให้ข้อมูลมา หากเป็นยาที่ไม่มีข้อมูลเฉพาะในการเก็บรักษายาให้เก็บแยกออกจากยาที่มีภาชนะบรรจุคล้ายคลึงกัน เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการหยิบใช้ยา
  • การสำรองยาที่มีความเสี่ยงสูงบนหอผู้ป่วย ควรมีการจำกัดปริมาณ และควรเก็บแยกให้เห็นเด่นชัดต่างจากยาทั่วไป หากไม่มีการใช้ยาต่อควรทำการคืนกลับห้องจ่ายยาโดยเร็วที่สุด